วิวัฒนาการการฝังเข็มและการแพทย์แผนตะวันออก

      ในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากการทดลองฝังเข็มรักษาโรคต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำการศึกษาแบบมีกลุ่มเปรียบเทียบ จึงเป็นที่กังขาของผู้คนอยู่เสมอว่า ผลการรักษาที่ออกมานั้นได้ผลดีจริง ๆ ตามที่กล่าวหรือไม่

          ปลายปี ค.ศ.1996 องค์การอนามัยโลก ได้จัดประชุมพิเศษขึ้นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อจารณาทบทวนรายชื่อโรคและอาการที่เป็นข้อบ่งชี้สำหรับการฝังเข็มใหม่อีกครั้ง โดยอาศัยผลการวิจัยที่มีการจำแนกกลุ่มเปรียบเทียบมาพิจารณาประกอบ จากการทบทวนครั้งนี้ คณะกรรมการยังคงมีความเห็นยืนยันเช่นเดิมว่า การฝังเข็มสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ผลจริง โดยมีผลการศึกษายืนยันแน่ชัดมากขึ้น จึงได้เพิ่มติมรายชื่อโรคและอาการที่เป็นข้อบ่งชี้จากเดิม 40 โรคมาเป็น 64 โรค

         ในปี ค.ศ. 1997 Gregory B.Dember แห่งภาควิชาฝังเข็มและการแพทย์แผนตะวันออกของมหาวิทยาลัย Bastyr แห่งสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมการวิจัย โดยคัดเอาแต่การวิจัยที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (controlled clinical study) เกี่ยวกับการฝังเข็มรักษาโรคต่าง ๆ โดยเลือกเฉพาะที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ต่างประเทศจำนวน 34 ฉบับ ซึ่งยืนยันได้ว่ามีโรคอย่างน้อย 14 โรคที่การฝังเข็มสามารถรักษาได้ผลดีจริงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทำฝังเข็ม (รายละเอียด ตารางที่ 6)

          ในระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1977 สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH (National Institutes of Health) ได้จัดการประชุมครั้งพิเศษขึ้น เพื่อประเมินข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงในการฝังเข็มรักษาโรคต่าง ๆ

          การประชุมนี้ได้อาศัยข้อมูลจากรายงานการวิจัยที่เป็นมาตรฐาน โดยเลือกเฉพาะแต่รายงานที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษทั่วโลกจำนวน 2,302 ฉบับ (ไม่รวมรายงานการทดลองของจีนเองที่ยังมีอีกจำนวนมาก) และมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,200 คน ซึ่งผลจากการประชุมสรุปได้ว่า

          การฝังเข็มมีฤทธิ์รักษาโรคบางอย่างได้จริง และสามารถใช้การฝังเข็มร่วมกับวิธีการรักษาตามแผนปัจจุบันได้ผลในอีกหลาย ๆ โรคอีกด้วย (รายละเอียด ตารางที่ 7)

          จากข้อมูลของสถาบันหรือองค์กรทางการแพทย์ที่สำคัญของโลก ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เรามองเห็นได้ว่า การฝังเข็มนั้นเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ได้ผลในหลายโรค มิใช่จำกัดเฉพาะแต่การระงับความเจ็บปวดเท่านั้น

          การประชุม NIH ไม่เพียงแต่ยอมรับว่าการฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้ผลจริงท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้บรรดาบริษัทประกันชีวิตทั้งหลายจ่ายเงินทดแทนสำหรับค่ารักษาฝังเข็มให้แก่ผู้ป่วยที่ทำประกันชีวิตอีกด้วย

          บริษัทประกันชีวิตเป็นองค์กรธุรกิจ การแสวงหากำไรสูงสุดย่อมเป็นเป้าหมายของบริษัท ในด้านหึ่ง บริษัทก็ทำแผนโปรโมชั่นขยายขอบเขตการคุ้มครองสุขภาพให้รวมไปถึงค่ารักษาด้วยการฝังเข็ม เพื่อที่จะดึงลูกค้าให้มาทำประกันมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนที่จะจ่ายค่าทดแทนที่น้อยที่สุดและจำเป็นที่สุดเท่านั้น

          เมื่อวิเคราะห์จากมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ เราอาจอนุมานได้ว่า โรคที่บริษัทประกันชีวิตยินยอมจ่ายค่ารักษาให้นั้น ย่อมเป็นโรคที่การฝังเข็มสามารถรักษาได้ผลดีที่สุด กล่าวคือ สามารถรักษาให้หายได้ ภายในระยะเวลาที่สั้นและเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าวิธีการรักษาแบบแผนปัจจุบัน ดังเช่น ตัวอย่างรายชื่อโรคตามกรมธรรม์ของบริษัทประกันชีวิตบางแห่ง (รายละเอียด ตารางที่ 8)

          การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาที่ต่างไปจากการรักษาด้วยยา เนื่องจาก มันมีลักษณะของ "หัตถการ" ขั้นตอนการรักษาจึงมิใช่ง่ายเหมือนกับการรัประทานหรือฉีดยา หากต้องอาศัยบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ ต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือหลายอย่างเช่น เข็ม น้ำยาและอุปกรณ์ ฆ่าเชื้อ เครื่องกระตุ้นเข็ม และมักต้องใช้เวลาในการรักษาพอสมควร เช่น ครั้งละ 20 ถึง 30 นาที และอาจต้องทำติดต่อกัน 5-10 ครั้งหรือนานกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่รักษาอีกด้วย

          หากคิดโดยรวมทั้งหมดแล้ว วิธีการรักษาแบบนี้จึงมี "ต้นทุน" ในการรักษาที่สูงพอสมควรเช่นกัน การพิจารณาเลือกใช้วิธีการนี้จึงต้องพิจารณาในแง่ของความคุ้มทุนของทรัพยากรว่า ประโยชน์ที่ได้รับออกมานั้นเหมาะสมหรือคุ้มค่ากับต้นทุนทรัพยากรที่ลงไปแค่ไหน

          การพิจารณาว่า "การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง " จึงอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังต้องตั้งคำถามต่อไปว่า "การฝังเข็มเหมาะที่จะใช้รักษาโรคอะไรบ้าง " อีกด้วย