เตรียมตัวก่อนไปฝังเข็ม

          กระบวนการรักษาโรคนั้น เป็นกระบวนการของสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย ซึ่งความสัมพันธ์นี้ไม่ควรเป็นลักษณะของ “การสั่งทำ” แพทย์และผู้ปวยควรสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะของ “ความร่วมมือ” กันมากกว่า ผลการรักษาของโรคหนึ่ง ๆ จะดีหรือไม่อย่างไรนั้น จึงขึ้นอยู่กับว่า แพทย์และผู้ป่วยจะสามารถประสานร่วมมือกันได้ดีเพียงใดอีกด้วย

           เวชกรรมฝังเข็มกล่าวสำหรับคนไทยเราแล้ว ยังนับเป็นเรื่องแปลกใหม่  ดังนั้นเมื่อจะไปรักษาย่อมมีความกังวลใจและความหวาดกลัวเกิดขึ้นไม่รู้ว่าควรจะเตรียมปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง? ทำให้การประสานร่วมมือในการรักษาไม่ราบรื่น ผลการรักษาจึงอาจไม่ดีเท่าที่ควร

            ดังนั้น ก่อนไปฝังเข็ม ผู้ป่วยก็ควรต้องมีการเตรียมตัวด้วย

 

1. เตรียมใจไปรักษา

            ผู้ป่วยรายหนึ่งเปนโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มีอาการปวดหลังเรื้อรังมานานหลายปี ตะเวนไปรักษากินยาสารพัดแต่อาการไม่ทุเลา บังเอิญมีญาติคุยเรื่องฝังเข็มให้ฟังและพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ เมื่อแพทย์ตรวจดุแล้ว จึงแนะนำให้รักษาด้วยการฝังเข็ม แต่ผู้ป่วยกลัวเจ็บมาก ขณะที่นอนบนเตียง เมื่อแพทย์จะลงมือปักเข็ม ผู้ป่วยก็ร้องเสียงดังลั่นด้วยความกลัว กล้ามเนื้อเกร็งไปหมดทั้งตัว จนกระทั่งแพทย์หมดปัญญาที่จะปักเข็มได้ สุดท้ายจึงต้องยกเลิกการรักษาไป

            การฝังเข็มนั้นเป็ฯการรักษาที่มีลักษณะเป็น “หัตถการ” ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยหวาดกลัวดิ้นไปมาโดยเฉพาะถ้าเป็นเด็ก แพทย์ก็จะปักเข็มได้ไม่ถนัดหรือผิดพลาด ผลการรักษาย่อมไม่ดีอย่างแน่นอน หรือกระทั่งอาจเกิดอันตรายขึ้นได้

            ผู้ป่วยที่มารักษาฝังเข็ม จึงควรมาด้วยความมั่นใจต่อการรักษา มิใช่มาด้วยความกังวล หวดวิตก บางคนกลัวเข็มเสียจริง ๆ กระทั่งเข็มฉีดยาก็ยังกลัวหรือแค่เห็นก็หวาดเสียว บางคนหน้าซีดใจสั่นหรือกระทั่งเป็นลมไปเลยก็มี ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ควรจะรักษาด้วยการฝังเข็ม เพราะผลการรักษามักจะไม่ค่อยดีเสมอ

           แพทย์เวชกรรมฝังเข็มที่ดีจึงควรอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจถึงเป้าหมาย วิธีการ ข้อดีข้อเสียของการรักษาให้ชัดเจนพอสมควร จะช่วยลดความกังวลของผู้ป่วยและญาติได้มากทีเดียว

2. สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม

            ในการฝังเข็ม ตำแหน่งจุดปักเข็มบางครั้งจะอยู่บริเวณใต้ร่มผ้า ผู้ป่วยจึงควรสวมใส่เนื้อผ้าที่เป็นชุดแยกส่วนระหว่างเสื้อกับกระโปรงหรือกางเกง เสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ควรรัดแน่นเกินไปเพื่อสะดวกในการถลกพับ แขนเสื้อและปลายขากางเกงควรให้หบวมหรือกว้างพอที่จะพักสุงขึ้นมาหรือข้อศอกหรือข้อเข่าได้ ในกรณีที่ต้องปักเข็มบริเวณไหล่หรือต้นคอก็ควรเลือกสวมเสื้อที่มีคอกว้าง

            ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต ควรสวมเสื้อแขนกุดและกางเกงขาสั้นจะทำให้แพทย์ปักเข็มได้สะดวกง่ายดายขึ้น

โดยทั่วไปแล้วควรจัดให้ผู้ป่วยฝังเข็มในท่านอนเสมอ เพราะผู้ป่วยสามารถผ่อนคลายในขณะฝังเข็มได้ดีกว่า และยังช่วยป้องกันภาวะ “เวียนศีรษะหน้ามืด” ที่อาจเกิดได้ง่ายในรายที่วิตกหวาดกลัวมาก

3. รับประทานอาการให้พอเหมาะ

            โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยที่มาฝังเข็มควรรับประทานอาการมาก่อนประมาณ 1-2 ชั่วโมง และไม่ควรรับประทานอาหารมากจนเกินไป หากเพิ่งรับประทานอาหารอิ่มมาใหม่ ๆ หรือรับประทานมากเกินไป อาหารยังคงค้างอยู่ในกระเพาะอาหารมาก เมื่อมาฝังเข็มซึ่งต้องนอนเป็นเวลานาน ๆ ถึง 20 นาที อาจทำให้รู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะในท่านอนคว่ำผู้ป่วยอาจทนไม่ได้ นอกจากนี้ หากต้องปักเข็มบริเวณหน้าท้อง ถ้ากระเพาะอาหารบรรจุอาหารจนพองโตมาก ๆ อาจทำให้เกิดอันตายจากการปักเข็มทะลุเข้าไปในช่องท้องหรือกระเพาะอาหารได้ง่าย

            ตรงกันข้าม ไม่ควรมารักษาในขณะที่กำลังหิวจัด เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดอาการ “หน้ามืดเป็นลม” ได้ง่ายเมื่อกระตุ้เข็มแรง ๆ ทั้งนี้เพราะว่าร่างกายอาจขาดพลังงานที่จะเอามาใช้เผาพลาญ ในขณะที่ระบบประสาทและฮอร์โมนกำลังถูกกระตุ้นจากการฝังเข็ม

4. ทำความสะอาดร่างกายให้เรียบร้อย

            การฝังเป็นมเป็นหัตถการที่ต้องใช้วัตถุแหลมคมปักผ่านผิวหนังลงไปในร่างกาย ผู้ป่วยจึงควรมีสภาพร่างกายที่สะอาด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโรคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนมาฝังเข็ม หากผู้ป่วยสามารถอาบน้ำสระผมมาก่อนได้นั่นก็จะดีที่สุด หรืออย่างน้อยก็อย่าให้ส่วนของร่างกายบริเวณที่ต้องปักเข็มนั้นสกปรกจนเกินไปก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน ผู้ป่วยบางคนมาฝังเข็ม ทั้ง ๆ ที่เท้ายังมีโคลนติดอยู่เลย เช่นนี้ก็ควรล้างเท้าให้สะอาดเสียก่อน เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในร่งกายได้ง่าย

            ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการปักเข็มศีรษะ ควรตัดผมให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ ไม่ควรใช้เยลหรือครีมทาผมที่เหนียวเหนอะหนะหรือถ้าหากไม่ใช้เลยจะดีที่สุด เพื่อสะดวกแก่แพทย์ในการปักเข็มเช่นกัน

            ผู้ป่วยสตรีที่กำลังมีประจำเดือนมานั้น สามารถปักเข็มรักษาได้ โดยไม่มีอันตรายอะไรเลย การที่ไม่นิยมฝังเข็มในช่วงนี้คงเป็นเรื่องของความไม่สะดวกหรือความกระดากอายมากกว่า

 

5. สงบกายและใจในขณะรักษา

              เมื่อแพทย์ปักเข็มลงบนผิวหนัง ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยคล้ายกับถูกมดกัด เมื่อแพทย์ปักถึงตำแหน่งจุด ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อ ๆ หรือหนัก ๆ หรือชา เล็กน้อย เมื่อแพทย์เริ่มทำการกระตุ้นหมุนปั่นเข็ม ก็จะรู้ตื้อ ๆ หรือหนัก ๆ หรือชาเล็กน้อย เมื่อแพทย์เริ่มทำการกระตุ้นหมุนปั่นเข็ม ก็จะรู้สึกตื้อหรือหนักชามากขึ้น ในบางครั้ง ความรู้สึกดังกล่าวอาจจะแผ่เคลื่อนที่ออกไปตามแนวเส้นลมปราณก็ได้ หากเกิดความรู้สึกเช่นนี้ มักจะมีผลการรักษาดีเสมอ

              ในกรณีที่ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า ผู้ป่วยจะรู้สึกว่า กล้ามเนื้อบริเวณที่ปักเข็ม มีการเต้นกระตุกเบา ๆ เป็นจังหวะตามกระแสไฟฟ้าที่กระตุ้น

               โดยทั่วไปแล้ว ในระหว่างการฝังเข็มผู้ป่วยไม่ควรมีอาการเจ็บปวดหรือชามากจนเกินไป หากรู้สึกเจ็บปวดมากหรือมีอาการชามาก ๆ หรือรู้สึกเหมือนถูก “ฟฟ้าซ๊อต” ควรรีบบอกแพทย์ทันที เพราะเข็มอาจจะไปแทงถูกเส้นเลือดหรือเส้นประสาท หรือตำแหน่งของเข็มไม่ถูกต้อง หรือตั้งความแรงของกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกระตุ้นไม่เหมาะสมก็ได้

                “ในระหว่างรักษา หากมีอาการผิดปกติหรือไม่สบายใด ๆ เกิดขึ้น เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือมืด รู้สึกวิงเวียนศีรษะเหมือนจะเป็นลม ให้รีบบอกแพทย์ผู้รักษาหรือผู้ช่วยแพทย์ทันที”

              ขณะที่มีเข็มปักคาร่างกายนั้น ควรนั่งหรือนอนนิ่ง ๆ ไม่ควรขยับเคลื่อนไหวส่วนของร่างกายที่มีเข็มปักคาอยู่ เพราะอาจทำให้เข็มงอหรือหักคาเนื้อได้ ยกเว้นการขยับตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังสามารถทำได้ แต่ร่ากายส่วนอื่น ๆ ที่ไม่มีเข็มปักอยู่นั้น สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ตามสบาย

               การฝังเข็มนั้นเป็ฯการกระตุ้นระบบประสาทเพื่อรปับการทำงานของอวัยวะระบบต่าง ๆ ให้สู่สภาพสมดุล ถ้าหากมีสิ่งใดมารบกวนระบบประสาทมากไปในขณะที่กำลังกระตุ้น กลไกการปรับสมดุลของการฝังเข็มก็ย่อมจะถูกกระทบกระเทือนไปด้วย

              ระหว่างที่ปักเข็มรักษา ผู้ป่วยควรอยู่ในสภาพที่สงบผ่อนคลายอาจหลับตาและหายใจเข้าออกช้า ๆ ให้เป็นจังหวะสม่ำเสมอ เพื่อช่วยทำให้จิตใจสงบสบาย ในสมัยโบราณที่ชาวจีนรักษาด้วยการฝังเข็มนั้น จึงมักมีการฝึกเดินลมปราณหายใจร่วมไปด้วย ก็มีเหตุผลเช่นนี้นั่นเอง

               ถ้าอยู่ในสภาพภายในห้องฝังเข็มมีบรรยากาศที่วุ่นวาย อึกทึกครึกโครม ผู้ป่วยนอนอยู่ในสภาวะที่ตืนตระหนก วิตกกังวล เจ็บปวดหรือหวาดกลัว ผลการรักษาก็มักจะออกมาไม่ค่อยดี

               ในระหว่างที่ปักเข็มกระตุ้นอยู่นั้น ผู้ป่วยบางคนอาจรู้สึกง่วงนอน เนื่องจาก การฝังเข็มสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่ง สารเอนดอร์ฟีน (endorphins) เกิดขึ้น สารนี้มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีนช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยกล่อมประสาทให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม เมื่อรักษาไปหลาย ๆ ครั้ง ผู้ป่วยบางคนจะพบว่าตนเองนอนหลับได้ง่ายขึ้นหรือหลับสนิทขึ้น และจิตใจก็จะสดชื่นแจ่มใสมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

               จากการสำรวจพบว่า มีชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยทีเดียที่ไปฝังเข็มด้วยเหตุผลเพื่อกระตุ้นร่างกายและจิตใจให้สดชื่น ทั้งท ๆ ที่พวกเข้าไม่ได้เจ็บป่วยด้วยโรคอะไรเลยก็มี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะฤทธิ์ดังกล่าวนี่เอง

6. การปฏิบัติตัวหลังการรักษา

               หลังจากปักเข็มกระตุ้นครบเวลาตามกำหนด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีแล้ว แพทย์ก็จะถอนเข็มออก บางครั้งอาจมีเลือดออกเล็กน้อย ตรงจุดที่ปักเข็มเหมือนกับเวลาไปฉีดยา เนื่องจากเข็มอาจปักไปถูกเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ เมื่อใช้สำลีกดเอาไว้สักครู่ เลือกก็จะหยุดได้เอง

               หลังเสร็จสิ้นจากการรักษา โดยทั่วไปแล้วไม่มีข้อห้ามเป็นพิเศษอะไรเลย ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาการ อาบน้ำ ทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้ตามปกติ ยกเว้นในกรณ๊ที่ติดเข็มคาใบหู เวลาอาบน้ำต้องระมัดระวังมิให้ใบหูเปียกน้ำ

               โดยทั่วไปแล้วหลังจากฝังเข็ม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องกลับไปนอนพักที่บ้านแต่อย่างไร สามารถขับรถหรือกลับไปทำงานได้ เว้นแต่บางคนอาจมีอาการอ่อนเพลียได้บ้างหลังจากฝังเข็ม เมื่อนอนพักแล้วก็จะหายไปได้

7. การรักษาอื่น ๆ ร่วมกับการฝังเข็ม

               ผู้ป่วยที่มารักษาฝังเข็ม อาจมีโรคประจำตัวอย่างอื่นอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง โรคถุงลมโป่งพอง ฯลฯ ซึ่งมักจะต้องมียารับประทานรักษาอยู่เป็นประจำ หรือมีอาการรักษาอื่น ๆ เช่น กายภาพบำบัด ร่วมอยู่ด้วย

               โดยทั่วไปแล้วการรักษาด้วยการฝังเข็ม มักสามารถจะรับประทานยาหรือใช้การรักษาอื่น ๆ ร่วมไปด้วยได้ โดยไม่มีข้อห้ามอะไร

              อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า การฝังเข็มอาจช่วยบรรเทาอาการโรคได้ด้วย เช่น ผู้ป่วยโรความดันโลหิตสูงที่มาฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตของตนเอง อาจมีความดันโลหิตลดลงมาได้ในระหว่างรักษา ในกรณีเช่นนี้ก็ต้องปรับลดขนายาลงมาด้วย แต่ผู้ป่วยไม่ควรยหุดยาเหล่านั้นเองโดยพลการ

8. ข้อห้ามและข้อควรระวังสำหรับการฝังเข็ม

               1. ผู้ป่วยที่ตื่นเต้นหวาดกลัวต่อการรักษามากเกินไป ทั้ง ๆ ที่ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังควบคุมจิตใจตนเองไม่ได้

               2. ผู้ป่วยที่เหน็ดเหนื่อยหลังออกกำลังกายหนัก

               3. สตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงใกล้คลอด เพราะว่าผู้ป่วยเหล่านี้มักจะไม่สามารถทนนอนหรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ ได้ การนอนหงายจะทำให้มดลูกและทารกในครรภ์กดทับหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้อง อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการช๊อกเป็นลมได้ ส่วนท่านอนคว่ำก็ไม่เหมาะสมกับสตรีขณะตั้งครรภ์ เพราะจะกดทับทารกในครรภ์และก่อให้เกิดความอึดอัดไม่สบายแก่มารดา

               4. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เมื่อเลือดออกแล้วหยุดยาก เช่น โรคฮีโมฟีเลีย เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาควรระมัดระวังเป็นพิเศษ การปักเข็มหรือการกระตุ้นเข็ม แพทย์จะต้องทำอย่างนุ่นนวลระวังมิให้เข็มปักโดนเส้นเลือดใหญ่ หลังจากถอนเข็ม ต้องกดห้ามเลือดให้นานกว่าผู้ป่วยทั่ว ๆ ไป

               5. ทารกเด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคจิตที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้

               6. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจ (pacemaker) ติดอยู่ในร่างกาย ห้ามรักษาโดยเครื่องกระตุ้นเข็มด้วยไฟฟ้า เพราะอาจรบกวนการทำงานของเครื่อง ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเกิดอันตรายร้ายแรงได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ ยังคงสามารถปักเข็มกระตุ้นโดยวิธีการหมุนปั่นด้วยมือได้

              “ข้อห้าม” ดังกล่าวเหล่านี้ มิใช่เป็นข้อห้ามอย่างสมบูรณ์เด็ดขาด ตัวอย่างเช่น การปักเข็มในผู้ป่วยโรคจิตก็อาจทำได้เหมือนกัน หรือกรณีเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือในการรักษาก็สามารถรักษาได้เช่นกัน ขอเพียงแต่เข้าใจถึงเหตุผลที่จะทำให้เกิดอันตราย เมื่อตั้งอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง เราก็อาจพลิกแพลงปักเข็มให้แก่ผู้ป่วยเหล่านี้ก็ได้

การฝังเข็ม ..ว่าด้วยเข็ม

คนที่เคยเห็นเข็มสำหรับฝังเข็มมาแล้ว อาจรู้สึกว่าเป็นเข็มเล็ก ๆ ธรรมดาไม่น่าจะมีฤทธิ์รักษาโรคอะไรได้เลย แต่สำหรับผู้ป่วยที่เคยตระเวนหาหมอรักษาไปทั่ว แล้วกลับหายจากโรคได้ด้วยการฝังเข็ม จะรู้สึกว่ามันเหมือนกับเป็นเข็มวิเศษ แน่นอน มันย่อมมิใช่เข็มที่วิเศษจริง ๆ แต่ก็มิใช่เป็นเข็มที่ธรรมดาเสียทีเดียวนัก ความจริงแล้วมันมีวิวัฒนาการความเป็นมาที่ยาวนาน และแฝงด้วยความหมายที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง การทำความรู้จักเกี่ยวกับเข็มจะช่วยให้เราเข้าใจเวชกรรมฝังเข็มได้มากยิ่งขึ้น

สมัยบุรพกาล บรรพบุรุษของชาวจีนได้รู้จักกดนวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหรืออาการไม่สบายต่าง ๆ ต่อมาในยุคหิน พวกเขาก็รู้จักใช้เศษินมาทำเป็นเครื่องมือสำหรับกดนวดหรือแทงหรือกรีดระบายหนอง..

            ในยุคหินใหม่เมื่อราว ๆ 4,000 กว่าปีก่อน พวกเขาได้รู้จักเทคนิคฝนขัดหินได้อย่างช่ำชองและละเอียดปราณีตมากขึ้น จนสามารถฝนเศษหินให้เล็กลงและแหลมคมขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาโรคดีขึ้นด้วย
ในประเทศจีนมีการขุดค้นทางโบราณคดีหลายแห่ง สามารถพบเครื่องหินที่ใช้สำหรับรักษาโรคอยู่เป็นจำนวนมากมาย มีลักษณะตรงกับคำจารึกในพงสาวดานโบราณที่เรียกว่า เปียนเสือ (Bian stone) ซึ่งหมายถึงเข็มที่ทำจากหิน

            เข็มหินในยุคแรกนั้นไม่เพียงแต่ใช้ทิ่มแทงเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ใช้สำหรับกดนวดและกรีดระบายหนองอีกด้วย รูปร่างของมันตึงมีทั้งเป็นวัตถุแหลม, วัตถุแบนคมเหมือนมีดและวัตถุกลมเหมือนถ้วย เป็นต้น หินเหล่านี้ถือเป็น “สมบัติล้ำค่า” อย่างหนึ่งเลยทีเดียว

            นอกจากหินแล้ว บรรพบุรุษขาวจีนในกลุ่มแม่น้ำฮวงโหยังรู้จักใช้วัสดุอื่น ๆ มาประดิษฐ์เป็นเข็มอีกด้วย เช่น กิ่งไม้ กระดูก เครื่องเคลือบดินเผา

             ตั้งแต่ในยุคราชวงศ์ชางเมื่อประมาณ 2,400 ปีก่อน สังคมจีนได้พัฒนาเข้าสู่ยุคโลหะ ชาวจีนโบราณได้เรียนรู้เทคนิคการหล่อหลอมโลหะจึงเริ่มปรากฏมีเข็มที่ทำมาจากโลหะชนิดต่าง ๆ อันได้แก่ เข็มสำริด เข็มเหล็ก เข็มทองคำ และเข็มเงินเกิดขึ้นมาเป็นลำดับ

             จากคัมภีร์อายุรเวทของกษัตริย์หวงตี้หรือ “หวงตี้เน่ยจิง” ซึ่งมีอายุยาวนานราว 2,200 ปีนั้นได้ทำให้เราทราบว่า ในยุคสงครามระหว่างแคว้นชาวจีนโบราณสามารถประดิษฐ์เข็มโลหะที่มีรูปร่างต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้ได้ถึง 9 ชนิด ดังต่อไปนี้


ภาพวาดเข็มบราณทั้ง 3 ในสมัยราชวงศ์หมิง

1. เข็มหัวลูกศร ใช้แทงผิวหนังตื้น ๆ เพื่อเจาะระบบเลือด
2. เข็มปลายมน ใช้เป็นเครื่องมือสำหรับกดนวด
3. เข็มปลายทู่ ใช้สำหรับกดเส้นลมปราณ
4. เข็มปลายแหลมขอบเหลี่ยม ใช้แทงเพื่อเจาะระบายเลือด
5. เข็มกระบี่ ใช้สำหรับกรีดหนอง
6. เข็มปลายแหลมขอบมน ใช้สำหรับแทงรักษาอาการปวดที่อยู่ลึก
7. เข็มเส้นขน ใช้ปรับการไหลเวียนลมปราณรักษาอาการปวดต่าง ๆ
8. เข็มยาว ใช้ปักรักษาพยาธิสภาพที่อยู่ส่วนลึก ๆ ของร่างกาย
9. เข็มใหญ่ ใช้เจาะน้ำในข้อ

             อย่างไรก็ตาม กระทั่งถึงทุกวันนี้ นักโบราณคดีของจีนก็ยังไม่สามารถขุดค้นพบเข็ม 9 ชนิดที่เป็นวัตถุโบราณจริง ๆ ได้เลย เข็มทองคำที่ขุดได้จากสุสานฝังศพเจ้าชายหลิวเซิ่งแห่งราชวงศ์ซีฮั่น ที่มณฑลเหอเป่ย เมื่อ ปี ค.ศ.1968 นั้น ก็มิได้มีรูปร่างตรงกับคำบรรยายในคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิง

              รูปร่างของเข็มโบราณทั้ง 9 จึงเป็นแต่รูปภาพที่แพทย์รุ่นต่อ ๆ มาจินตนาการและวาดออกมาเท่านั้นเอง ซึ่งมีอยู่หลายแบบตามแต่ละยุคสมัยของผู้วาด

               ด้วยเหตุนี้ในปี ค.ศ.1986 สถาบันวิจัยการแพทย์แผนโบราณจีนพร้อมทั้งสถาบันวิจัยเอกสารประวัติศาสตร์ และโรงงานผลิตอุปกรณ์การแพทย์แห่งมณฑลซูโจว จึงได้ร่วมมือกันจำลองสร้างเข็ม 9 ชนิดขึ้นมาใหม่โดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีต่าง ๆ มาประกอบ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสืบทอดมรดกทางประวัติศาสตร์มิให้มีการสูญหายไป

               เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกได้เผยแพร่ไปทั่วไป เข็มบางชนิดก็เสื่อมความนิยมลงและไม่ได้ใช้อีกต่อไป เพราะมีอุปกรณ์อย่างอื่นที่ดีกว่ามาทดแทนเช่น ใช้มีดผ่าตัดมากรีดระบายหนองแทนการใช้เข็มกรีดเจาะ เป็นต้น

              ปัจจุบันนี้เข็มที่ยังนิยมใช้กันเป็นประจำได้แก่ เข็มเส้นขน เข็มฝังคา ในผิวหนังหรือใต้ผิวหนัง เข็มดอกเหมยหรือเข็มเคาะผิวหนัง และเข็มสามเหลี่ยมสำหรับเจาะปล่อยเลือด เป็นต้น

               อย่างไรก็ตาม ยังมีการพัฒนาสร้างเข็มรูปแบบใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ เช่น เข็มที่ทำมาจากแม่เหล็ก เข็มเลาะผังพืด หรือใช้แสงเลเซอร์มากระตุ้นจุดแทนการปักเข็มเป็นต้น ซึ่งยังต้องการข้อมูลการศึกษาวิจัยอีกมาก เพื่อมายืนยันว่า จะใช้ได้ผลในการรักษาจริงหรือไม่

               เข็มที่นิยมใช้มากที่สุดคือ “เข็มเส้นขน (Filiform needle)”

               ที่เรียกว่าเข็มเส้นขนนั้น เนื่องจากมันมีลักษณะเป็นเส้นโลหะขนาดเล็กมาเหมือนกับ “เส้นขน” นั่นเอง เมื่อปักลงไปตามร่างกาย จะทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อได้รับการบาดเจ็บน้อยมาก สามารถปักได้ลึกและปักได้และทุกตำแหน่งทั่วร่างกาย จึงมีประโยชน์ใช้รักษาโรคได้กว้างขวาง

              แพทย์ฝังเข็มทุกคนจะต้องรู้จักการใช้เข็มชนิดนี้ โดยทั่วไปแล้วถ้าไม่มีการระบุเป็นอย่างอื่น เมื่อกล่าวถึง “เข็ม” ในทางเวชกรรมฝังเข็มแล้วก็จะหมายถึงเข็มชนิดนี้เป็นลำดับสำคัญเสมอ

              รูปร่างของเข็มที่ใช้สำหรับฝังเข็มนั้นจะไม่ต่างไปจากเข็มฉีดยาทั่ว ๆ ไป เข็มสำหรับฝังเข็มจะมีส่วนประกอบอยู่ 5 ส่วน คือ ปลายเข็ม ตัวเข็ม โคนเข็ม ด้ามเข็มและหางเข็ม ตามลำดับ

               ด้ามเข็มมักจะมีลวดเล็ก ๆ พันเป็นเกลียวอีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยให้จับได้สะดวกและกระชับนิ้วมือไม่ให้ลื่น เข็มบางยี่ห้อที่ใช้แบบครั้งเดียวทิ้ง อาจใช้พลาสติกหลอมเป็นด้ามเข็มแทนเพื่อประหยัดต้นทุนผลิต

 โครงสร้างของเข็มเส้นขน

              ส่วนปลายสุดของด้ามเข็ม ซึ่งเรียกว่า “หางเข็ม” นั้น มีประโยชน์สำหรับใช้ติดสมุนไพรรมยาประกอบการรักษา และเป็นเครื่องหมายช่วยบอกทิศทางการหมุนเข็มว่า หมุนทวนหรือตามเข็มนาฬิกา

               ชนิดของโลหะที่เอามาใช้ทำเข็มนั้น ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ขึ้นกับว่าความก้าวหน้าทางด้านโลหะศาสตร์ในแต่ละยุคนั้นเป็นอย่างไร สังคมยุคนั้นมีความสามารถในการหล่อหลอมโลหะได้ดีแค่ไหน ในสมัยโบราณจึงปรากฏหลักฐานของเข็มที่ทำจากโลหะหลายชนิดด้วยกัน เช่น สำริด ทองแดง ทองคำ เงิน เหล็ก เป็นต้น

               เข็มที่ทำจากเหล็กเมื่อใช้ไปนาน ๆ จะเกิดสนิม จึงเปราะหักได้ง่าย เข็มที่ทำด้วยทองคำมีข้อด้อย คือ เนื้อโลหะค่อนข้างอ่อนและมีราคาแพง ส่วนเข็มเงินนั้น เนื้อเข็มจะเกิดปฏิกิริยาเคมีกับออกซิเจนในอากาศ ทำให้เปลี่ยนเป็นสีดำได้ง่าย และโลหะเงินก็มีราคาแพงเช่นกัน
เข็มฝังเข็มที่ใช้กันในปัจจุบัน นิยมทำด้วยโลหะเหล็กกล้าสแตนแลส เพราะมีข้อดีหลายอย่าง คือ เนื้อโลหะแข็งพอเหมาะจึงมีความยืดหยุ่นและเหนียวไม่เปราะหักง่าย ไม่ขึ้นสนิม ไม่ทำปฏิกิริยาอันตรายหรือเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย ทนทานต่อสารเคมีและความร้อนได้ดี จึงสะดวกในการทำความสะอาด และราคาก็ไม่แพงจนเกินไป

               ผู้ป่วยมักสงสัยว่า ในเข็มนั้นใส่ยาหรือสมุนไพรอะไรเอาไว้หรือไม่ ความจิรงแล้ว เข็มที่ใช้ฝังเข็มนั้นเป็นโลหะเนื้อตัน ไม่มีการใส่หรือชุบน้ำยาอะไรทั้งสิ้น ผลการรักษาโรคอยู่ที่การปักและวิธีการกระตุ้นเข็มเป็นสำคัญ

               เมื่อเปรียบเทียบกับเข็มฉีดยา เข็มที่ใช้ฝังเข็มจะมีขนาดเล็กกว่ามาก ตัวอย่างเช่น เข็มฉีดยาสำหรับเด็กเล็กเบอร์ 25 มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 มิลลิเมตร เข็มฉีดยาสำหรับผู้หใญ่เบอร์ 23 มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.28 มิลลิเมตร เท่านั้นเอง ซึ่งเล้กกว่าเข็มฉีดยาเด็กถึงเกือบครึ่ง

             ข้อแตกต่างระหว่างเข็มฉีดยาและเข็มที่ใช้สำหรับฝังเข็มที่สำคัญมากกว่าก็คือว่า

                เข็มฉีดยามีลักษณะเป็นโลหะท่อกลวง ปลายแหลมบากตัดคล้ายขวากไม้ไผ่ในหลุมดักสัตว์ ส่วนเข็มที่ใช้สำหรับฝังเข็มเป็นเส้นลวดเนื้อตัน มีปลายแหลมมนหรือเปลี่ยมตัด เมื่อปักเข็มลงในเนื้อเยื่อ เข็มฉีดยาจะ “บาดตัด” ทำอันตรายต่อผิวหนังและเนื้อเยื่อมากกว่าเข็มสำหรับฝังเข็มที่จะเป็นลักษณะ “แทงแหวกผ่าน” ผิวหนังและเนื้อเยื่อลงไป ดังนั้นเมื่อถอนเข็มฉีดยาขึ้นมา ผิวหนังและเนื้อเยื่อจะถูกทำลายขาดรุ่งริ่งมากกว่า ผู้ป่วยที่ถูกฉีดยาจึงรูสึกเจ็บมากกว่าการถูกฝังเข็มเสียอีก


เข็มฉีดยาจะทำลายเนื้อเยื่อของร่งกายมากกว่าเข็มฝังเข็ม


               จากความรู้ทางการแพทย์ เราทราบแล้วว่า กลไกอย่างหนึ่งที่ทำให้การฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้นั้นก็คือ เข็มสามารถกระตุ้นตัวรับสัญญาณประสาท (receptor) ทำให้เส้นประสาททำงาน กล้ามเนื้อที่หดเกร็งมีการคลายตัว และทำให้หลอดเลือดขนายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น ตัวรับสัญญาณประสาทเหล่านี้มักจะอยู่ใต้ผิวหนังชั้นลึก อุปกรณ์ที่จะสามารถกระตุ้นตัวรับสัญญาณประสาทนี้ได้ จะต้องสามารถสอดใส่หรือปักแทงให้ลึกไปในร่างกายได้โดยไม่เกิดอันตราย

                การกดนวด การใช้คลื่นความถี่สูง เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าที่มีขั้วเป็นแบบแผ่นโลหะ การประคบร้อนประคบเย็น ไม่สามารถสร้างแรงกระตุ้นที่ลงไปในชั้นลึกได้เพียงพอสำหรับการรักษา

                ส่วนเข็มฉีดยานั้นก็ไม่เหมาะสมที่จะใช้เพราะว่า หากปักลงไปลึก จะทำอันตรายต่อเนื้อเยื่ออวัยวะได้

เข็มสำหรับการฝังเข็มที่มีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ และยาวเพียงพอจึงมีความเหมาะสมมากกว่าอุปกรณ์ชนิดอื่น ๆ ในการที่จะปักลงไปลึก ๆ เพื่อกระตุ้นตัวรับสัญญาณประสาทให้ได้

ในคัมภีร์อายุรเวทของกษัตริย์หวงตี้บันทึกเอาไว้ว่า เข็มเส้นขนมีปลายแหลมเล็กเท่า “ปากยุง” ซึ่งเป็นเบาะแสหลักฐานที่บ่งบอกให้เรารู้ว่าเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนนั้น อารยธรรมของชาวจีนโบราณต้องสูงมาก กระทั่งสามารถรีดหรือหล่อโลหะให้กลายเป็นเส้นลวดที่เล็กเท่า “ปากยุง” สำหรับปักลึกเข้าไปในร่างกายของคนเราได้ โดยไม่มีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้น

กฎเกณฑ์ธรรมชาติของร่างกายมนุษย์เราที่ว่า เมื่อทำการกระตุ้นตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายสามารถจะบำบัดอาการไม่สบายหรือโรคนั้นได้ ความจริงแล้ว ชนชาติอื่น ๆ นอกจากชาวจีนก็รู้จักกฎเกณฑ์ข้อนี้เหมือนกัน ดังจะเห็นตัวอย่างว่าการนวด การใช้ไฟจี้ หรือการใช้วัตถุแหลมแทงเพื่อกระตุ้นร่างกายนั้น ก็พบได้ในแถบทุกชนชาติ

แต่ ภูมิปัญญาของประชาชาติจีนโบราณ อยู่ที่ว่า

               ประการที่ 1 ชาวจีนได้ค้นพบวิธีการกระตุ้น ส่วนลึกของร่างกายโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายและพัฒนาความรู้เป็นทฤษฎีที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติที่เป็นจริงออกมาได้

               ประการที่ 2 มีระดับเทคโนโลยีการผลิตที่สูงเพียงพอจนสามารถสร้างอุปกรณ์มาใช้กระตุ้นร่างกายตามวิธีการดังกล่าวได้เมื่อเพียบพร้อมด้วยเงื่อนไขทั้ง 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ชาวจีนโบราณจึงสามารถประดิษฐ์เข็มชนิดต่าง ๆ ออกมาได้ และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้จีนเป็นชนชาติแรกที่ทำให้กำเนอศาสตร์เวชกรรมฝังเข็มขึ้นมาได้ในโลกนั่นเอง

 

การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง ?

แนวคิดที่ถือเป็นแก่นกลางของการแพทย์แผนโบราณจีนนั้นได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับ "สมดุลแห่งชีวิต" นั่นคือว่า

การที่ชีวิตของคน ๆ หนึ่งจะดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุขนั้น จะต้องดำรงอยู่ในสภาวะที่สมดุลระหว่างร่างกายของคนผู้นั้นกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และระหว่างระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่งกายของผู้นั้นได้วย หากมีปัจจัยเหตุใดเหตุหนึ่งมาทำลายความสำดุลในการดำรงชีวิตของร่างกายนั้นกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มันจะนำไปสู่การเสียสมดุลของระบบอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย และก็จะทำให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาได้

ในขณะเดียวกัน การเสียสมดุลของระบบอวัยวะภายในร่างกายเองก็จะยิ่งทำให้ร่างกาย ไม่สามารถปรับตัวให้สมดุลกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหากไม่ได้รับการแก้ไข ชีวิตก็จะถึงจุดดับสิ้นไปในที่สุด

ตามทฤษฎีการแพทย์จีนนั้น เชื่อว่า

"............ภายในร่างกายของคนเรา จะมีเลือดและลมปราณซึ่งได้รับมาจากพ่อแม่โดยกำเนิด ไหลหมุนเวียนไปตามเส้นลมปราณต่าง ๆ ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งร่างกาย เป็นพลังงานผลักดันใหอวัยวะต่าง ๆ สามารถเคลื่อนไหวทำงานได้ และมีการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันเป็นอย่างดี ร่างกายจึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ

           เมื่อมีเหตุใดเหตุหนึ่งทำให้การไหลเวียนของเลือดลมปราณติดขัด อวัยวะต่าง ๆ ก็จะทำงานผิดปกติไป หากความผิดปกตินั้นไม่สามารถปรับแก้ไขกลับคืนมาได้ ร่างกายก็จะเกิดการเสียสมดุลกับธรรมชาติ แล้วมีอาการของโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น ......."

บรรพบุรุษชาวจีนในยุคโบราณได้ค้นพบว่า การใช้เข็มปักลงไปยังจุดบางตำแหน่งในร่างกาย สามารถกระตุ้นลมปราณให้ไหลเวียนต่อไปได้ โดยไม่ติดขัด จึงทำให้อวัยวะที่ทำงานผิดปกติไปนั้นกลับคืนสู่สภาพปกติ สามารถขจัดปัจจัยที่ก่ออันตรายแก่ร่างกายออกไป จากนั้นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นก็จะหายไปได้

 ตามแนวคิดของการแพทย์แผนโบราณจีนนั้น การฝังเข็มมีฤทธิ์ในการรักษาโรค 3 ประการ คือ

           1. แก้ไขการไหลเวียนของเลือดลมปราณที่ติดขัด
           2. ปรับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายให้อยู่ในสมดุล
           3. กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพื่อกำจัดเหตุปัจจัยที่เป็นอันตรายออกไปจากร่างกาย

 

           ในช่วง 200 กว่าปีที่ผ่านมานั้น อันเป็นยุคที่อารยธรรมการแพทย์แผนตะวันตกได้แก้วหนาและแพร่หลายไปทั่วโลก แนวคิดการแพทย์แผนโบตราณดังกล่าวข้างต้นถือว่าเป็นเรื่องที่ "ไม่เป็นวิทยาศาสตร์และไร้เหตุผล" ทำให้วิชาการฝังเข็มได้รับความนิยมลดน้อยลงมาโดยตลอด

           อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งศตวรรณที่ผ่านมานี้ วิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์ระบบประสาท (neuroscience) และการค้นคว้าเกี่ยวกับการฝังเข็มในเชิงวิทยาศาสตร์ก็ได้ค่อย ๆ พิจสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวคิดที่ชาวจีนได้เสนอเอาไว้ตั้งแต่โบราณนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยพื้นฐาน

           จากการศึกษาพบว่า เมื่อปักเข็มลงบนร่างกาย มันสามารถกระตุ้นทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดเป็นไปได้สะดวกขึ้น ภาวะเลือดคั่งของบริเวณนั้นึงลดลง ช่วยทำให้มีสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ทำให้สารของเสียที่คั่งค้างบริเวณนั้นลดน้อยลง ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณที่มีการบาดเจ็บ ได้รับการซ่อมแซมให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้

           ในกรณีที่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลายตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อปักเข็มลงไปลึกจนถึงชั้นกล้ามเนื้อแล้วกระตุ้นด้วยวิธีที่เหมาะสมกล้ามเนื้อที่หดเกร็งก็จะมีการคลายตัวออกมาได้ ฤทธิ์ของการฝังเข็มในข้อนี้มีประโยชน์มาก ในการรักษาอาการเจ็บปวดจากกล้ามเนื้อที่หดเกร็งอยู่เสมอ ดังเช่น ในกรณีของการปวดแขนขา ปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดบั้นเอว เป็นต้น

           วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด (Physiotherapy) หลาย ๆ อย่าง เช่น การนวด การประคบด้วยความร้อน การใช้คลื่นความถี่สูงอุลตราซาวนด์ ก็มีฤทธิ์ช่วยให้มีการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น หรือมีการคลายตัวของกล้ามเนื้อเฉพาะบริเวณนั้นคลายกับการฝังเข็มเหมือนกัน

           แต่ว่าการฝังเข็มมีข้อที่เดินกว่าตรงที่ มันสามารถคลายกล้ามเนื้อมัดที่อยู่ลักได้ดีกว่า และสามารถปักเข็มเลือกคลายกล้ามเนื้อเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามที่ต้องการก็ได้

           การฝังเข็มไม่เพียงแต่ จะช่วยทำให้หลอดเลือดบริเวณที่ปักเข็มขยายตัวเท่านั้น แต่หลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายก็จะมีการขยายตัวอย่างเหมาะสมอีกด้วย ทำให้เนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้รับสารอาหารและขจัดของเสียที่คั่งค้างได้ดีกว่า

ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการฝังเข็มรมยา การแพทย์แผนโบราณ ปี ค.ศ. 1995

ข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการฝังเข็ม ในตำราฝังเข็มรมยาสำหรับมหาวิทยาลัย การแพทย์แผนโบราณทั่วประเทศของจีน ฉบับพิมพ์ล่าสุดปี ค.ศ. 1995

วิวัฒนาการการฝังเข็มและการแพทย์แผนตะวันออก

      ในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากการทดลองฝังเข็มรักษาโรคต่าง ๆ จำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำการศึกษาแบบมีกลุ่มเปรียบเทียบ จึงเป็นที่กังขาของผู้คนอยู่เสมอว่า ผลการรักษาที่ออกมานั้นได้ผลดีจริง ๆ ตามที่กล่าวหรือไม่

          ปลายปี ค.ศ.1996 องค์การอนามัยโลก ได้จัดประชุมพิเศษขึ้นที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อจารณาทบทวนรายชื่อโรคและอาการที่เป็นข้อบ่งชี้สำหรับการฝังเข็มใหม่อีกครั้ง โดยอาศัยผลการวิจัยที่มีการจำแนกกลุ่มเปรียบเทียบมาพิจารณาประกอบ จากการทบทวนครั้งนี้ คณะกรรมการยังคงมีความเห็นยืนยันเช่นเดิมว่า การฝังเข็มสามารถรักษาโรคต่าง ๆ ได้ผลจริง โดยมีผลการศึกษายืนยันแน่ชัดมากขึ้น จึงได้เพิ่มติมรายชื่อโรคและอาการที่เป็นข้อบ่งชี้จากเดิม 40 โรคมาเป็น 64 โรค

         ในปี ค.ศ. 1997 Gregory B.Dember แห่งภาควิชาฝังเข็มและการแพทย์แผนตะวันออกของมหาวิทยาลัย Bastyr แห่งสหรัฐอเมริกา ได้รวบรวมการวิจัย โดยคัดเอาแต่การวิจัยที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (controlled clinical study) เกี่ยวกับการฝังเข็มรักษาโรคต่าง ๆ โดยเลือกเฉพาะที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ต่างประเทศจำนวน 34 ฉบับ ซึ่งยืนยันได้ว่ามีโรคอย่างน้อย 14 โรคที่การฝังเข็มสามารถรักษาได้ผลดีจริงเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทำฝังเข็ม (รายละเอียด ตารางที่ 6)

          ในระหว่างวันที่ 3-5 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1977 สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ NIH (National Institutes of Health) ได้จัดการประชุมครั้งพิเศษขึ้น เพื่อประเมินข้อมูลทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงในการฝังเข็มรักษาโรคต่าง ๆ

          การประชุมนี้ได้อาศัยข้อมูลจากรายงานการวิจัยที่เป็นมาตรฐาน โดยเลือกเฉพาะแต่รายงานที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษทั่วโลกจำนวน 2,302 ฉบับ (ไม่รวมรายงานการทดลองของจีนเองที่ยังมีอีกจำนวนมาก) และมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 1,200 คน ซึ่งผลจากการประชุมสรุปได้ว่า

          การฝังเข็มมีฤทธิ์รักษาโรคบางอย่างได้จริง และสามารถใช้การฝังเข็มร่วมกับวิธีการรักษาตามแผนปัจจุบันได้ผลในอีกหลาย ๆ โรคอีกด้วย (รายละเอียด ตารางที่ 7)

          จากข้อมูลของสถาบันหรือองค์กรทางการแพทย์ที่สำคัญของโลก ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เรามองเห็นได้ว่า การฝังเข็มนั้นเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ได้ผลในหลายโรค มิใช่จำกัดเฉพาะแต่การระงับความเจ็บปวดเท่านั้น

          การประชุม NIH ไม่เพียงแต่ยอมรับว่าการฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้ผลจริงท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้บรรดาบริษัทประกันชีวิตทั้งหลายจ่ายเงินทดแทนสำหรับค่ารักษาฝังเข็มให้แก่ผู้ป่วยที่ทำประกันชีวิตอีกด้วย

          บริษัทประกันชีวิตเป็นองค์กรธุรกิจ การแสวงหากำไรสูงสุดย่อมเป็นเป้าหมายของบริษัท ในด้านหึ่ง บริษัทก็ทำแผนโปรโมชั่นขยายขอบเขตการคุ้มครองสุขภาพให้รวมไปถึงค่ารักษาด้วยการฝังเข็ม เพื่อที่จะดึงลูกค้าให้มาทำประกันมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนที่จะจ่ายค่าทดแทนที่น้อยที่สุดและจำเป็นที่สุดเท่านั้น

          เมื่อวิเคราะห์จากมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ เราอาจอนุมานได้ว่า โรคที่บริษัทประกันชีวิตยินยอมจ่ายค่ารักษาให้นั้น ย่อมเป็นโรคที่การฝังเข็มสามารถรักษาได้ผลดีที่สุด กล่าวคือ สามารถรักษาให้หายได้ ภายในระยะเวลาที่สั้นและเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าวิธีการรักษาแบบแผนปัจจุบัน ดังเช่น ตัวอย่างรายชื่อโรคตามกรมธรรม์ของบริษัทประกันชีวิตบางแห่ง (รายละเอียด ตารางที่ 8)

          การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาที่ต่างไปจากการรักษาด้วยยา เนื่องจาก มันมีลักษณะของ "หัตถการ" ขั้นตอนการรักษาจึงมิใช่ง่ายเหมือนกับการรัประทานหรือฉีดยา หากต้องอาศัยบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนี้โดยเฉพาะ ต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือหลายอย่างเช่น เข็ม น้ำยาและอุปกรณ์ ฆ่าเชื้อ เครื่องกระตุ้นเข็ม และมักต้องใช้เวลาในการรักษาพอสมควร เช่น ครั้งละ 20 ถึง 30 นาที และอาจต้องทำติดต่อกัน 5-10 ครั้งหรือนานกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่รักษาอีกด้วย

          หากคิดโดยรวมทั้งหมดแล้ว วิธีการรักษาแบบนี้จึงมี "ต้นทุน" ในการรักษาที่สูงพอสมควรเช่นกัน การพิจารณาเลือกใช้วิธีการนี้จึงต้องพิจารณาในแง่ของความคุ้มทุนของทรัพยากรว่า ประโยชน์ที่ได้รับออกมานั้นเหมาะสมหรือคุ้มค่ากับต้นทุนทรัพยากรที่ลงไปแค่ไหน

          การพิจารณาว่า "การฝังเข็มรักษาโรคอะไรได้บ้าง " จึงอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังต้องตั้งคำถามต่อไปว่า "การฝังเข็มเหมาะที่จะใช้รักษาโรคอะไรบ้าง " อีกด้วย

 

Page 2 of 4